Share:
หมวดหมู่: ข้อมูลเด็กและเยาวชน
สิทธิประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชน
1. การสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในสถานแรกรับ/สถานสงเคราะห์/สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ/สถานพัฒนาและฟื้นฟู 1.1 การดูแลเด็กในสถานแรกรับ (รับเด็กอายุ 6-18 ปี) มีสถานแรกรับเด็กชาย-หญิง จำนวน 2 แห่ง ใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี 1.2 การดูแลเด็กอ่อนในสถานสงเคราะห์ (รับเด็กแรกเกิด-5 ปี) มี 8 แห่ง ใน 7 จังหวัด คือ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี ขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่ อุดมธานี และนครศรีธรรมราช 1.3 การดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์เด็ก (รับเด็กอายุ 6-18 ปี) มี 15 แห่ง ใน 14 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี สระบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย อุดรธานี นราธิวาส ปัตตานี ยะลา นครศรีธรรมราช และสงขลา 1.4 การดูแลเด็กในศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพเด็กและเยาวชน (รับเด็กอายุ 6-18 ปี) มี 1 แห่ง ที่จังหวัดศรีสะเกษ 1.5 การดูแลเด็กในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก (รับเด็กอายุ 6-18 ปี) มี 4 แห่ง ที่จังหวัดขอนแก่น ระยอง นนทบุรีและปทุมธานี 1.6 การดูแลเด็กในสถานพัฒนาและฟื้นฟู (รับเด็กอายุ 6-18 ปี) มี 4 แห่ง ที่จังหวัดชลบุรี ลำปาง หนองคายและสุราษฎร์ธานี 1.7 การจัดบริการที่พักชั่วคราวแก่เด็กและครอบครัวที่ประสบปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นสถานแรกรับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และเป็นสถานที่รับตัวชั่วคราวตามกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ดำเนินการในบ้านพักเด็กและครอบครัว 36 แห่งทั่วประเทศ |
2. การสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและพัฒนาเด็กในครอบครัวชุมชน 2.1 สงเคราะห์เด็กในครอบครัว มีการจัดบริการสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน ประสบปัญหาความเดือดร้อนและสงเคราะห์เด็กนักเรียนขาดแคลน ดังนี้ 1. การให้คำปรึกษาแนะนำ 2. การให้การช่วยเหลือเป็นเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค และอุปกรณ์การศึกษา หรือให้การช่วยเหลือทั้งเงินและสิ่งของในคราวเดียวกัน ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท ต่อเด็กหนึ่งคนในครอบครัว และไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกินกว่าหนึ่งคน 2.2 การจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นการบริการจัดหาครอบครัวทดแทนชั่วคราวให้กับเด็กในสถานสงเคราะห์ เด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง ซึ่งมีผู้เลี้ยงดูไว้ในครอบครัว อายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้เจริญเติบโตอยู่ในครอบครัวแทนการเลี้ยงดูเด็กไว้ในสถานสงเคราะห์ หากครอบครัวที่เลี้ยงดูเด็กประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจ จะได้รับการสนับสนุนเป็นเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็ก รายละไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน และ/หรือช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กเดือนละไม่เกิน 500 บาท กรณีเห็นสมควรให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่อุปการะเด็กมากกว่า 1 คน ช่วยเหลือเงินค่าเลี้ยงดูเดือนละไม่เกิน 4,000 บาท และ/หรือช่วยเหลือเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคเดือนละไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้ตามระเบียบกรมประชาสงเคราะห์ว่าด้วยการสงเคราะห์เด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์ พ.ศ. 2544 และประกาศกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เรื่อง อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือ ช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น 2.3 การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เป็นการดำเนินงานด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยการจัดหาครอบครัวทดแทนที่มีลักษณะถาวร ซึ่งเป็นครอบครัวบุญธรรมชาวไทยที่มีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือครอบครัวบุญธรรมชาวต่างประเทศที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งในด้านกฎหมายและด้านของสังคมของประเทศนั้น ๆ ให้กับเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้งที่อยู่ในความอุปการะของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เด็กกำพร้าที่อยู่ในความอุปการะขององค์การสวัสภาพเด็ก (เฉพาะครอบครัวบุญธรรมชาวต่างประเทศ) เด็กที่บิดามารดาที่แท้จริงยินยอมยกให้ เนื่องจากไม่สามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูได้และเด็กที่มีคำสั่งศาลแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดาเด็ก โดยดำเนินงานภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 2. พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 3. กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม 4. พระราชบัญญัติการจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 5. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2.3.1 การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของชาวไทย จุดบริการ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สำหรับผู้มีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำหรับผู้มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ๆ คุณสมบัติผู้ขอรับบริการ 1. คุณสมบัติตามกฎหมาย : ผู้ที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น คือ 1.1 ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ (นับตั้งแต่วันเกิด ถึงวันที่ยื่นคำร้อง) 1.2 ต้องมีอายุแก่กว่าเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม อย่างน้อย 15 ปี 1.3 ต้องเป็นผู้ที่ไม่ต้องห้ามเป็นผู้ปกครองเด็กตามมาตรา 1587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2. คุณสมบัติทางสังคม 2.1 กรณีขอรับเด็กกำพร้า ควรมีคู่สมรสตามกฎหมาย เพื่อเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีทั้งบิดามารดา และไม่ควรมีอายุห่างจากเด็กมากเกินไป 2.2 มีฐานะการครองชีพและสถานภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง / มีที่อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี / มีเวลาพร้อมให้กับเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม 2.3.2 การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของชาวต่างประเทศ จุดบริการ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สถานเอกอัครราชทูต / หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ / องค์กรสวัสดิภาพเด็กในต่างประเทศ คุณสมบัติผู้ขอรับบริการ 1. ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และต้องมีอายุมากกว่าเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม อย่างน้อย15 ปี 2. จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายของประเทศที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย กรณีผู้ขอรับฯ ยื่นคำขอในประเทศไทยจะต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย ๖ เดือน และมีระยะเวลาสำหรับการทดลองเลี้ยงดูเด็กไม่น้อยกว่าหกเดือน 3. ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่มีบุตรอยู่ในความอุปการะ 3 คนขึ้นไป จะมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอฯ 4. ต้องไม่เป็นผู้ต้องห้ามเป็นผู้ปกครองเด็กตามมาตรา 1587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 5. กรณีขอรับเด็กกำพร้าควรมีคู่สมรสตามกฎหมาย เพื่อเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีทั้งบิดามารดาและไม่ควรมีอายุห่างจากเด็กมากเกินไป 2.4 การอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินงานสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อช่วยในการพัฒนาและคุ้มครองสวัสดิภาพ เด็ก / เยาวชน อายุแรกเกิด-18 ปี ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพเหมาะสมตามวัย เพื่อส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการอนุญาตให้จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน และสนับสนุนการดำเนินงานโดยการตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำ การพัฒนาบุคลากร อาหารเสริมและสื่อพัฒนาการเด็กตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น 2.5 การจัดบริการสถานรับเลี้ยงและพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุตรหลานข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่มีรายได้น้อย เพื่อให้เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ได้รับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาศักยภาพตามวัยอย่างเหมาะสม |
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม |
Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial